ชิปปิ้ง จากกระแสเศรษฐกิจรับปี 2563 ด้วยค่าเงินบาทแข็งค่าจนหลุดต่ำกว่า 30 บาทในรอบ 6 ปีครึ่ง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหลายด้าน
แต่อย่างไรก็ตาม ค่าเงินแข็งและค่าเงินอ่อน ย่อมมีผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ โดยทุกฝ่ายควรตื่นตัวและเฝ้าจับตามองสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด
ค่าเงินแข็งและค่าเงินอ่อน เป็นการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าเงินระหว่างเงิน 2 สกุล ซึ่งเป็นอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ในการแลกเงินจากสกุลหนึ่งไปเป็นอีกสกุลหนึ่ง และเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นพร้อมกันเสมอในทิศทางตรงกันข้าม
ค่าเงินแข็งค่า
หมายถึงเงินสกุลหนึ่งแพงขึ้นเมื่อเทียบกับเงินอีกสกุลหนึ่ง เช่น จากเดิมเงิน 35 บาท แลกได้ 1 USD วันนี้เงิน 29 บาทแลกได้ 1 USD ดังนั้น เงินบาทจึงแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลล่าห์และเงินดอลล่าห์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินบาท ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า ได้แก่
- การค้าเกินดุล มีการส่งออกสินค้ามากกว่านำเข้า เมื่อมีการส่งออกสินค้าไปขายยังต่างประเทศ เงินที่ได้จากการขายสินค้า จึงได้รับเป็นเงินสกุลอื่น ทำให้ไทยที่เป็นผู้ส่งออกต้องแลกกลับเป็นเงินสกุลบาท
- เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามามาก (Fund Flow) จากการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ ซึ่งใช้เงินสกุลอื่นเข้ามาลงทุน
- ความเชื่อมั่นในเงินสกุลนั้น ยิ่งนักลงทุนชาวต่างชาติเชื่อว่าเงินสกุลใดมีความเสี่ยงต่ำ ที่จะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ จึงแลกเงินของประเทศนั้นเก็บเอาไว้
- การแทรกแซงค่าเงินธนาคารกลาง คือการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เข้าไปแทรกแซงอัตราเงินแลกเปลี่ยน
ผู้ที่ได้รับประโยชน์
- ธุรกิจนำเข้า ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจนำเข้าสินค้าโดยตรง เช่น พรีออเดอร์ ชิปปิ้ง เป็นต้น หรือนำเข้าวัตถุดิบ จะมีต้นทุนที่ต่ำลง จึงเท่ากับว่าได้กำไรมากขึ้นต่อการลงทุนในจำนวนเงินที่เท่ากัน
- กลุ่มคนไทยที่ไปเที่ยวต่างประเทศ การที่ค่าเงินบาทในประเทศแข็งค่า ทำให้สามารถแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้ในจำนวนที่สูงขึ้น ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น
- นักช็อปปิ้งออนไลน์เว็บต่างประเทศ เช่น Amazon หรือ Ebay ทำให้ซื้อสินค้าต่างประเทศและนำเข้าโดยจ่ายเงินน้อยลงเช่นเดียวกับการนำเข้าสินค้า
ผู้ที่ได้รับผลกระทบ
- กลุ่มแรงงานไทยในต่างแดนหรือคนไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ เมื่อส่งเงินกลับมาในประเทศ จะทำให้แลกเป็นเงินบาทได้น้อยลง
- ธุรกิจส่งออก ทั้งธุรกิจส่งออกสินค้าโดยตรงหรือสินค้าที่เป็นวัตุดิบ ซึ่งมีต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่รับเงินดอลล่าห์และมีสาขาอยู่ต่างประเทศ จึงเท่ากับว่าจ่ายเงินมากขึ้นแต่ได้ผลลัพธ์เท่าเดิม ส่งผลให้กำลังการผลิตลดลงและส่งผลต่อการจ้างงาน รวมทั้ง GDP ในระยะยาว
- กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น จะทำให้นักท่องเที่ยวแลกเงินบาทได้น้อยลง ทำให้นักท่องเที่ยวเลือกที่จะไปท่องเที่ยวยังภูมิภาคอื่น ที่มีค่าเงินถูกกว่าและส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศอีกด้วย
ค่าเงินอ่อนค่า
การที่มูลค่าของเงินสกุลหนึ่งมีค่าน้อยลงกว่าเดิมเมื่อเทียบกับเงินอีกสกุลหนึ่ง เช่น จากเดิมเงิน 29 บาทแลกได้ 1 USD วันนี้เงิน 35 บาทแลกได้ 1 USD ดังนั้นเงินบาทจึงอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลล่าห์ ส่วนเงินดอลล่าห์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินบาท ส่วนสาเหตุหลักที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่านั้นเกิดจาก
- การค้าขาดดุล คือ มีการนำเข้ามากกว่าส่งออกสินค้า ทำให้ต้องแลกเงินบาทเป็นเงินต่างประเทศเมื่อซื้อสินค้าต่างประเทศมากกว่าการแลกเงินสกุลอื่นเป็นเงินไทย
- การลงทุนไหลออกนอกประเทศ การที่นักลงทุนเลิกลงทุนในไทย จึงแลกเงินบาทที่เคยลงไว้กลับเป็นสกุลเงินอื่นของต่างประเทศ
- ขาดความเชื่อมั่น เช่น หากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในประเทศไทย ก็จะแลกกลับไปเป็นเงินสกุลอื่นที่มีความเชื่อมั่นในการลงทุนมากกว่าหรือไม่สนใจจะแลกเป็นเงินสกุลบาทอีกจนกว่าจะมีสถานการณ์ที่น่าลงทุนมากขึ้น
- การแทรกแซงค่าเงินจากธนาคารกลาง ก็คือ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เข้าไปแทรกแซงอัตราเงินแลกเปลี่ยน
ผู้ที่ได้รับประโยชน์
- กลุ่มแรงงานไทยในต่างแดนหรือคนไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศและส่งเงินกลับมาในประเทศ จะทำให้แลกเป็นเงินบาทได้จำนวนมากขึ้น
- ธุรกิจส่งออก ทั้งธุรกิจที่ส่งออกสินค้าโดยตรงหรือสินค้าที่เป็นวัตุดิบ เช่น จากเดิมค่าเงิน 29 บาทแลกได้ 1 USD ทำมีรายได้จากการขายสินค้า 1 ชิ้นในราคา 9 USD แลกเป็นเงินไทยได้ 261 บาท เมื่อเงินบาทอ่อนค่าลงเป็น 35 บาทรายได้ 9 USD เมื่อแลกเป็นเงินไทยจะได้ 315 บาท หมายความว่าต้นทุนและราคาขายสินค้าเท่าเดิม แต่มีกำไรมากขึ้น
- กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว เมื่อเงินบาทอ่อนค่าลง จะทำให้นักท่องเที่ยวแลกเงินบาทได้มากขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวเลือกที่จะเข้ามาเที่ยวในประเทศมากยิ่งขึ้นและสามารถเพิ่มรายได้เข้าประเทศ
ผู้ที่ได้รับผลกระทบ
- ธุรกิจนำเข้า ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่มีการนำเข้าสินค้าโดยตรงหรือนำเข้าวัตถุดิบ เมื่อต้องใช้เงินบาทมากขึ้นเพื่อให้ได้สินค้าในปริมาณและคุณภาพเท่าเดิม เช่น จากเดิมค่าเงิน 32 บาทแลกได้ 1 USD เมื่อนำเข้าสินค้ามาในราคา 5 USD แลกเป็นเงินไทยได้ 160 บาท ขายสินค้าในไทยราคา 200 บาท ได้กำไร 40 บาท เมื่อค่าเงินบาทอ่อนตัวลงเป็น 35 บาท สินค้าราคาเท่าเดิม แลกเป็นเงินไทยได้ 175 บาท ขายในราคา 200 บาท จะเหลือกำไร 25 บาท จึงเท่ากับว่าได้กำไรน้อยลงต่อการลงทุนในจำนวนเงินที่เท่ากัน
- กลุ่มคนไทยที่ไปเที่ยวต่างประเทศ การที่ค่าเงินบาทในประเทศอ่อนค่า ทำให้สามารถแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้ในจำนวนที่น้อยลง เท่ากับว่ามีค่าใช้จ่ายในต่างประเทศสูงขึ้น
- นักช็อปปิ้งออนไลน์เว็บต่างประเทศ เช่น Amazon หรือ Ebay ทำให้ซื้อสินค้าต่างประเทศและนำเข้าโดยจ่ายเงินมากขึ้นเช่นเดียวกับการนำเข้าสินค้า
อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทที่มีการผันผวนเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจและมีผู้ได้รับผลกระทบเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่มีคู่ค้ากับประเทศที่ใช้สกุลเงินดอลล่าห์สหรัฐ ผู้ประกอบการอาจเลือกแลกเปลี่ยนเป็นเงินอัตราอื่นที่มีความผันผวนน้อยกว่า เช่น ธุรกิจชิปปิ้งหรือนำเข้าสินค้าจากจีนที่อาจจะไปได้สวยและถือเป็นโอกาสที่ดีในการนำเข้าสินค้าหรือชิปปิ้งในช่วงนี้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการและผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงทั้งสองด้านจึงควรเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของค่าเงิน เพื่อที่จะได้วางแผนรับมือกับความผันผวนเหล่านี้และอาจจะสามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสทองก็เป็นได้